Overview

By ศรินนา - ปรับปรุงล่าสุด 24/08/2560

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เป็นสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช มีภารกิจหลักในด้านการผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของชุมชน ภูมิภาค และของรัฐ ได้ตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นในการผลิตบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางด้านการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีคุณภาพ มีองค์ความรู้และประสบการณ์ในลักษณะที่เป็นผู้รู้จริงและปฏิบัติได้ กระตุ้นให้เกิดการใช้ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างนวัตกรรมการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศโดยบูรณาการความรู้สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศกับด้านการจัดการ ประกอบกับปัจจุบันสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีความพร้อมทั้งทางด้านคณาจารย์ ครุภัณฑ์ และอุปกรณ์เครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาในขอบเขตดังกล่าว สามารถรองรับการจัดการเรียนการสอนและการศึกษาวิจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

หลักสูตรการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ (MIT) เป็นหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษา ดำเนินการโดยสำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ เริ่มรับนักศึกษาเข้าศึกษาในระดับปริญญาโท (M.Sc.) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 จนถึงปัจจุบัน สอนโดยคณาจารย์ และวิทยากรผู้มีความรู้ความสามารถ เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากสถาบันต่าง ๆ ปรับปรุงหลักสูตรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2549 และครั้งที่ 2 ปี พ.ศ.2553 โดยตระหนักถึงความจำเป็นในการสร้างบุคลากร ที่มีความรู้ความสามารถในศาสตร์ด้านการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับภาวะความต้องการของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง ทำให้สามารถสร้างบุคลากรและงานวิจัย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และเป็นพื้นฐานในการเรียนการสอนในระดับดุษฎีบัณฑิตต่อไปได้เป็นอย่างดี จัดการเรียนการสอนในวันเสาร์-อาทิตย์ และจันทร์-ศุกร์ โดยผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ 3 ที่ คือ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพมหานคร เป็นหลักสูตรที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง สามารถผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถสู่ตลาดแรงงานเป็นจำนวนมาก

 

 

ปี 2554 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เล็งเห็นความจำเป็นอย่างยิ่งในการตอบสนองการขาดแคลนกำลังคนที่มีความรู้ระดับสูงทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และด้านการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถผลิตงานวิจัยเชิงบูรณาการ และสามารถบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศภายในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งพัฒนาแนวทางในการกำหนดเกณฑ์ต่างๆ ที่จะใช้เป็นแนวปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำไปประยุกต์ให้เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ จึงมอบหมายให้สำนักวิชาเปิดหลักสูตรระดับปริญญาเอก (Ph.D) สาขาการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศโดยเริ่มรับนักศึกษาปี 2555 เนื่องจากบุคลากรในสาขานี้ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐยังขาดแคลนรวมทั้งมีความสนใจของผู้ที่ต้องการศึกษาต่อจำนวนมาก เพื่อตอบสนองบุคลากรและหน่วยงานที่ต้องการบุคลากรที่มีวุฒิและความรู้ ความสามารถในด้านการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศในระดับที่สูงขึ้น โดยมุ่งเน้นให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ด้านดังกล่าวในเชิงลึก และบูรณาการศาสตร์เป็นการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรสายเทคโนโลยีสารสนเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก สามารถผลิตงานวิจัยที่มีประโยชน์และเป็นที่ยอมรับ ทั้งสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้งานในภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมได้จริงในเชิงปฏิบัติ

 

แนวปฏิบัติที่ดีในการเตรียมความพร้อมนักศึกษาใหม่ด้านการวิจัยในระดับบัณฑิตศึกษา มีแนวทางปฏิบัติดังนี้

1.      หลักสูตรฯ ให้ข้อมูลแก่นักศึกษาเกี่ยวกับการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในประเด็นต่อไปนี้

   - จรรยาบรรณนักวิจัย ปัญหาการคัดลอกผลงานวิจัย และปัญหาของวารสารที่ไม่มีคุณภาพ

            - การตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ

2. จัดโครงการ Visiting Professor

3. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมทักษะการใชเครื่องมือในการทําวิจัย

4. จัดโครงการการเขียนบทความวิชาการ